สารเคมี 2

 

     ปัจจุบันนี้ประเทศของเราพบมลพิษมากมาย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ภาวะพิษต่างๆอยู่รอบตัวไปหมด เราสามารถรับสารเหล่านี้ได้ทั้งทางเดินอาหารจากการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ทางผิวหนัง โดยหากสะสมในร่างกายจะก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง และโรคร้ายตามมา เช่น ภาวะพิษจากสารตะกั่ว พบปนเปื้อนทั่วไป เสี่ยงสูงในวัยทำงานรับผลกระทบมากสุด

     สารตะกั่วถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกเลยก็ว่าได้  เนื่องจากส่วนใหญ่มีการใช้วัตถุดิบที่อาจมีการปนเปื้อนสารตะกั่วกันจำนวนมาก ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า ภาวะพิษจากโลหะหนัก (Heavy metal poisoning) พบจำนวนมากขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2546-2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 49 ราย เฉลี่ยปีละ 7 ราย จำแนกเป็น พิษสารตะกั่ว 27 ราย ร้อยละ 55.10, แคดเมียม 7 ราย ร้อยละ 14.28, ดีบุกและส่วนประกอบ 5 ราย ร้อยละ 10.2, สารหนู 4 ราย, ทองแดง 1 ราย อื่น ๆ ไม่ระบุ 5 ราย ผู้ป่วยพิษโลหะหนัก ส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้าง และในเด็ก พบการสัมผัสสารตะกั่วสูงขึ้น ซึ่งตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่มีลักษณะอ่อนทำให้หลอมเหลวได้ง่าย และสามารถพิมพ์แบบออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดี จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ภาวะตะกั่วเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เพราะตะกั่วเป็นสารที่พบปนเปื้อนทั่วไป อาการของตะกั่วเป็นพิษเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ และคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ

    ภาวะที่เกิดกับเด็ก ก็เกิดจจากการที่เด็กเล่นซุกซน สารตะกั่วอาจลอยมาจากอากาศ ยาสมุนไพร ภาชนะเซรามิกที่มีตะกั่ว ท่อประปาที่ทำด้วยตะกั่ว หมึก ผลิตภัณฑ์จากแบตเตอรี่ อาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อน แป้งทาตัวเด็ก สีที่ทาของใช้ของเล่นเด็ก เป็นต้น  แต่ปัจจุบันนี้ใช่ว่าจะเป็นแค่เด็กๆ หนุ่ม-สาว ผู้ใหญ่วัยทำงานก็ด้วย ที่ทำงานของคุณก็ทำให้เกิดพิษตะกั่วได้ด้วย เช่น การทำงานในโรงงานทำแบตเตอรี่ โรงงานทำเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับคนทั่วไป

     นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การอนามัยโลก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันศึกษาต่างๆ สมาคมผู้ผลิตสีไทย เป็นต้น ร่วมดำเนินการและรณรงค์ลดความเสี่ยงในการได้รับพิษจากสารตะกั่วทั้งในเด็ก และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคพิษจากสารตะกั่ว การติดตามสอบสวน ค้นหาหาสาเหตุของโรค และเพื่อหาแนวทางการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะในที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จากการทำงานและการได้รับสัมผัสสารมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในเด็ก

 

สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

1. ทางปาก เป็นทางเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากคนงานเอง เช่น สูบบุหรี่ รับประทานอาหารในโรงอาหารในโรงงานซึ่งมีตะกั่วอยู่ในบรรยากาศ

2. ทางการหายใจ โดยการสูดเอาฝุ่น ควัน ไอระเหย ของตะกั่วที่นำมาใช้แล้ว ขาดการป้องกันควบคุมอย่างถูกต้อง และเหมาะสม ทำให้ควันเหล่านั้นแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมของการทำงาน

3. ทางผิวหนัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานกับน้ำมันเบนซิน เช่น ช่างฟิต เป็นต้น

 

      อาการตะกั่วเป็นพิษมักจะค่อยเป็นค่อยไป  เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ ท้องผูก โลหิตจาง มึนชาอวัยวะแขนขา บางคนอาจมาด้วยอาการความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ ในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากผู้ป่วยอาจมีอาการชัก ซึม หมดสติ และเสียชีวิต เป็นต้น  นอกจากนี้ มีการศึกษาผลกระทบของตะกั่วของการพัฒนาการในเด็ก พบว่า อาจจะทำให้การพัฒนาทางสติปัญญาด้อยลง การวินิจฉัย การวินิจฉัยภาวะตะกั่วเป็นพิษอาจทำได้ยาก เพราะอาการแสดงหลากหลาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างต้องอาศัยการแปลผลจำเพาะด้วย

 

การควบคุมป้องกันและรักษา

     สำหรับการป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่วและกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยง สูง โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย การใส่หน้ากากป้องกันการหายใจเอาตะกั่วเข้าไป และควรจะเฝ้าระวังการเกิดพิษตะกั่วโดยการตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับตะกั่วเป็นประจำ

     ส่วนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่วเป็นแบบประคับประคอง ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นพิษอาจมีอาการหลายระบบเช่น อาการชัก ปัญหาโรคตับ โรคไต อาการปวดท้อง และอื่นๆ ซึ่งจะต้องประคับประคองให้ดี

     ทั้งนี้ ถ้ามีอาการเจ็บป่วยเหล่านี้เรื้อรัง เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ ท้องผูก โลหิตจาง มึนชาอวัยวะแขนขา บางคนอาจมาด้วยอาการความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ ในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากผู้ป่วยอาจมีอาการชัก ซึม หมดสติ ควรรีบมาพบแพทย์ หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทร 0-2591 8172 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ค่ะ

 

 

  ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ